ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Youtube, Hi5, Facebook และ Multiply ซึ่งเว็ปไซต์ดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของชุมชนหรือโลกของสังคมออนไลน์ เป็นสื่อกลางของแสดงความคิดความเห็นในรูปแบบต่างๆ ผ่านรูปภาพ วิดีโอ เสียง (Voice) และข้อความ ซึ่งถือได้ว่าครบทุกกระบวนการของการเป็นสื่อกลางในโลกออนไลน์แบบมัลติมีเดียทุกชนิด เพียงแต่ว่าเว็บไซต์ไหนจะออกแบบมาให้เหมาะกับสื่อชนิดไหน เช่น Youtube ก็เป็นเว็บไซต์ที่เราสามารถนำคลิปวิดีโอที่เราถ่ายไว้ไป Upload เพื่อให้เพื่อนฝูงหรือคนทั่วไปเข้าไปดูได้ ส่วน Hi5 เราก็นำรูปที่เราถ่ายมาหรือนำรูปที่เราสนใจ ไปเผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนฝูง เป็นต้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็น Youtube หรือ Hi5 คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็น Community ของวัยรุ่นที่นิยมเข้าไปใช้งานกัน แต่แท้จริงแล้วทั้ง Youtube และ Hi5 นั้น เราสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์อื่นๆ นอกจากความบันเทิงได้ เช่น Youtube นั้น เป็นสื่อเคลื่อนไหวที่เราสามารถเข้าไปเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารคดี เรื่องของการเรียนรู้วัฒนธรรม สังคม และความรู้ต่างๆ เช่น เรื่องของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเน็ตเวิร์ค ซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ เพียงในเวลาไม่กี่นาที ส่วนใน Hi5, Facebook และ Multiply นั้น ในปัจจุบันเราก็สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ไม่แพ้ Youtube ได้เหมือนกัน ถ้าเรานำมาใช้ในเชิงสร้างสรรค์ เช่น นำมาทำเป็น Gallery แสดงภาพประวัติศาสตร์ ภาพศิลปวัฒนธรรม หรือภาพแสดงการท่องเที่ยวโปรโมตสิ้นค้าพื้นบ้าน ให้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านสังคมออนไลน์ หรือนำมาทำเป็นแบบ Commercial ก็สามารถทำได้อีกเช่นกัน
ความหมาย
Social Software หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อสังคม คือ ซอฟต์แวร์ที่ทำให้ผู้คนสามารถนัดพบปะเชื่อมสัมพันธ์หรือทำงานร่วมกันโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลาง เกิดเป็นสังคมหรือชุมชนออนไลน์ คำนี้มีความหมายมากกว่า Mailing List และ UseNet กล่าวคือ หมายความรวมถึง E-mail, MSN, Instant Messaging, Web, Blog และ Wikipedia เป็นซอฟต์แวร์ที่มีลักษณะเพื่อการทำงานร่วมกัน เรียกว่า Collaborative Software ในที่นี้จะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “ซอฟต์แวร์เพื่อสังคม” ก่อน การจำแนกกลุ่มของซอฟต์แวร์เพื่อสังคมนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต
2. กลุ่มที่ใช้ประโยชน์ในการจัดการความรู้
เครื่องมือที่จัดว่าเป็น Social Software มีลักษณะการใช้ประโยชน์ร่วมกันในสังคมมนุษย์ เช่น การติดต่อสื่อสาร การแบ่งปันความรู้ การจัดการความรู้ เป็นต้น ซอฟต์แวร์บางประเภทเริ่มพัฒนาจากระดับล่างขึ้นบน ซึ่งผู้ใช้เป็นอาสาสมัครและชื่อเสียงของซอฟต์แวร์ก็เติบโตมาจากความเชื่อถือของผู้ใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายและแนวทางปฏิบัติตามอย่างที่ผู้ใช้ในกลุ่มต้องการ ในทางตรงกันข้ามบางซอฟต์แวร์เติบโตจากบนลงล่าง โดยให้บทบาทผู้ใช้เป็นบุคคลภายนอกที่ต้องได้รับสิทธิก่อนการเข้าใช้ซอฟต์แวร์ Social Software นี้เกิดมาจากการร่วมมือกันระหว่างโปรแกรมเมอร์และกลุ่ม คนทางสังคมที่ให้ความสนใจในประเด็นที่ต่างออกไปจากซอฟต์แวร์โดยทั่วไป เช่น โปรแกรมตารางคำนวณ โปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล โปรแกรมบัญชี โปรแกรมการลงทะเบียน เป็นต้น
แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. เครื่องมือเพื่อการสื่อสาร แบ่งออกเป็น Asynchronous และ Synchronous
- เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารสองฝ่ายไม่พร้อมกัน (Asynchronous) คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่หน้า เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น การใช้ E-mail, Web board, Newsgroup เป็นต้น
- เครื่องมือที่ช่วยในการสื่อสารคนสองคนหรือเป็นกลุ่ม แบบสองฝ่ายพร้อมกัน (Synchronous ) เช่น การสนทนาผ่านโปรแกรม Chat, ICQ, MSN เป็นต้น
2. เครื่องมือเพื่อการสร้างการจัดการความรู้
เป็นเครื่องมือในกลุ่มที่ต้องการใช้เพื่อประโยชน์เพื่อการจัดการความรู้ มีหลายอย่าง โดยแบบเบื้องต้นคือการสืบค้นข้อมูล ส่วนในระดับถัดมา เป็นเครื่องมือเพื่อการใช้ข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งให้ความรู้ และสร้างความรู้ใหม่ เช่น Wikipedia, Blog เป็นต้น
ตัวอย่างเครื่องมือทางสังคมต่าง ๆ
1. Blog
ความหมายของคำว่า Blog
Blog มาจากคำเต็มว่า Weblog บางครั้งอ่านว่า We Blog บางคนอ่านว่า Web Log แต่ทั้งสองคำบอกถึงความหมายเดียวกันว่านั่นคือ บล็อก (Blog)
Blog คือการบันทึกบทความของตนเอง (Personal Journal) ลงบนเว็บไซต์ ใน Blog นั้นจะมีเนื้อหาเป็นเรื่องใดก็ได้ เช่น การเขียนเรื่องราวของตนเอง การเขียนวิจารณ์เรื่องราว หรือหัวข้อ หรือสิ่งที่ตนเองสนใจต่างๆ เช่น การเขียนวิจารณ์สถานการณ์การเมืองของประเทศไทย หรือการบอกถึงผลที่ได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยใช้ หรือซื้อมา เป็นต้น
Blog ประกอบด้วย ข้อความ, hypertext, รูปภาพ และ ลิงค์ (ไปยังเว็บ, วีดีโอ, ข้อมูลเสียง และอื่นๆ) Blog จะอยู่ในรูปแบบบทสนทนาระหว่างเอกสาร โดยผู้ที่ใช้ Blog สามารถเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ ซึ่ง Blog มีทั้งเป็น Blog เฉพาะบางกลุ่ม หรือเป็น Blog ทั่ว ๆ ไปก็ได้
การเพิ่มบทความให้กับ Blog ที่มีอยู่ เรียกว่า “Blogging” บทความใน Blog เรียกว่า “Posts” หรือ “Entries” บุคคลที่โพสลงใน “Entries” เหล่านี้เรียกว่า “Blogger”
จุดเด่นที่สุดของ Blog ก็คือ Blog สามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนของบล็อกนั้นๆ ผ่านทางระบบ Comment ของบล็อกนั่นเอง ความสะดวกและง่ายในการเขียน Blog ทำให้สามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของผู้เขียน Blog ได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังมีการ Comment จากผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกันได้อีกด้วย บางครั้งทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เพราะบางครั้ง ข้อมูลจาก Blog เป็นข้อมูลที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนอีกด้วย
เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ที่เราใช้ในการเขียน Blog มีมากมาย เช่น WordPress, Movable Type เป็นต้น จึงมีผู้คนมากมายในโลก หันมาเขียน Blog กันอย่างแพร่หลาย นับได้ว่า Blog เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจาก วีดีโอ, สิ่งพิมพ์, โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เราสามารถเรียกได้ว่า Blog ได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ที่สำคัญอย่างแท้จริง
ข้อแตกต่างระหว่าง Blog กับเว็บอื่นๆ
Blog จะมีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากเว็บเพจมาตรฐานทั่วไป Blog จะมีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้สร้างหน้าเว็บใหม่ได้ง่าย เช่น การใส่ข้อมูลใหม่ (โดยมีหัวข้อ, ประเภท, และเนื้อความ) ทำได้ง่าย มี Template อัตโนมัติที่จะจัดการการเพิ่มบทความตามวันที่และหัวข้อเป็น Archive มีการกรองเนื้อหาแยกตาม วันที่ประเภท ผู้แต่ง หรืออื่นๆ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ดูแลจัดการ Blog สามารถเชิญ หรือ เพิ่มผู้แต่งคนอื่น โดยจัดการเรื่องการอนุญาตและการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปโดยง่าย
ข้อแตกต่างจากฟอรั่มหรือ Newsgroup
Blog แตกต่างจากฟอรั่มหรือ Newsgroup ตรงที่เฉพาะผู้แต่งหรือกลุ่มผู้แต่งเท่านั้นที่จะสามารถสร้างหัวข้อใหม่ใน Blog เครือข่ายของ Blog อาจเป็นเหมือนฟอรั่มในแง่ที่ว่าทุกหน่วยในเครือข่าย Blog สามารถสร้างหัวข้อได้ในหน่วยนั้น ๆ เครือข่ายแบบนี้ต้องมีการเชื่อมโยงกัน
Group Blog ที่มีหลายคนที่ Post ข้อความได้ เป็นที่แพร่หลายทั่วไป หรือแม้แต่ Blog ที่คนทั้งหลายโพสที่ Blog ได้ โดยเจ้าของ Blog หรือ บรรณาธิการของ Blog จะเป็นผู้เปิดประเด็นการอภิปราย
สื่อดิจิตอล
ข้อความและ Hyperlinks เป็นที่พบเห็นได้ทั่วไปตาม Blog ต่างๆ แต่บาง Blog จะเน้นรูปภาพ (เช่น Web Comics และ PhotoBlog) และวีดีโอ บาง Blog ลิงค์ไปที่ไฟล์เสียง Blog สำหรับ mp3 ก็มีข้อมูลเพลงแยกตามประเภท Blog บางอย่างปรากฏเฉพาะบนมือถือเรียกว่า Moblog การจะพิจารณาว่า Blog ใดได้รับความนิยมเพียงใด อาจจะพิจารณาจากการอ้างอิงถึงและการเข้ารวมพวกและอ้างถึงกัน (Affiliation) เพราะว่าสองอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงว่าคนได้เข้ามาอ่านเนื้อหาและตัดสินใจว่ามีคุณค่าหรือไม่เพียงใด
Blogging และวิถีของผู้คน
Blogger หลายคนสนับสนุนประเด็นการเคลื่อนไหวเรื่อง Open Source ธรรมชาติของการเผยแพร่โดยอิสระช่วยให้ Blog ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก สำหรับกระแส Open Source เป็นวิธีที่ให้ประชาชนเข้าร่วมโดยตรง Bloggers หลายคนแปลกแยกตัวเองออกจากสื่อหลักๆ ในขณะที่ Bloggers หลายคนใช้ Blog ในทางอื่น เช่นส่งข้อความสู่สาธารณะ ปัญหาที่อาจจะตามมาได้นั้น สามารถเกิดจากการไม่เคารพทรัพย์สินทางปัญญาหรือการให้ข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ องค์กรข่าวมักจะไม่กล้าบอกข่าวที่จะทำให้ประชาชนไม่พอใจ แต่เมื่อ Blogger เข้ามาสร้างข่าว นักข่าวก็จะชี้แจงข่าวลืออีกทีหนึ่ง
Blog ถูกมองว่าเป็นการรวบรวมความคิดของมนุษย์ สามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาด้านจิตวิทยา เช่น โรคซึมเศร้าและการเสพติด นอกจากนี้ก็สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ เช่น ในปี 2005 นาย Simon Ng ได้โพส Entry ซึ่งในที่สุดช่วยจับตัวฆาตกรได้ ไม่เพียงเท่านั้น Blog ยังส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยที่มีผู้พูดและศึกษาภาษาของชนกลุ่มนั้น ๆ ไม่มาก มารวมกลุ่มกัน เช่น Scottish Gaelic Blogs ซึ่งอาจจะมีประชาการอยู่ประเทศคาคักสถานและในรัฐอลาสกา ดังนั้นฺBlogging จึงเป็นช่องทางเผยแพร่งานพิมพ์อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
รูปที่ 1 ตัวอย่าง Blog
รูปที่ 2 หน้าจอการ post ข้อความใน Blog
Internet Forum เป็นส่วนหนึ่งใน World Wide Web ที่มีไว้สำหรับเก็บการอภิปราย หรือซอฟต์แวร์ที่ให้บริการด้านนี้ ฟอรั่มในเว็บเริ่มประมาณปี 1995 โดยทำหน้าที่คล้ายกับ Bulletin Board และ Newsgroup ที่มีมากมายในยุค 1980s และ 1990s ความเป็นชุมชนเสมือนของฟอรั่มเกิดจากผู้ใช้ขาประจำ ประเด็นที่เป็นที่นิยมของฟอรั่มทั่วไปมี เทคโนโลยี เกมคอมพิวเตอร์ และการเมือง เป็นต้น Internet forums อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถโพสหัวข้อลงไปในกระดาน ผู้ใช้คนอื่นๆ ก็สามารถเลือกดูหัวข้อหรือแม้กระทั่งโพสความคิดเห็นของตนเองลงไปได้ ฟอรั่มโดยส่วนใหญ่ จะอนุญาตให้ใครก็ได้สามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานได้ตลอดเวลา มีเพียงบางฟอรั่ม เช่น Forum รวบรวมเกมส์ ( http://www.thaigaming.com/forum ) , Forum เกี่ยวกับ computer และ internet ( http://rcweb.net/forums ) ที่จำกัดสมาชิกให้มีความเป็นส่วนตัวโดยอาจจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อเข้าใช้งานเป็นกลุ่มเฉพาะ ฟอรั่มแต่ละที่ก็จะมีลักษณะการทำงานและการใช้งานแตกต่างกัน เช่น บางที่สามารถใส่รูปภาพหรือแฟ้มข้อมูลต่าง ๆ ได้ บางที่มีโปรแกรมแปลและตรวจสอบการสะกดคำ เป็นต้น
รูปที่ 3 หน้าจอ Forum เรื่อง Computer และ Internet
รูปที่ 4 หน้าจอ Forum เรื่อง Game
3. Wiki
Wiki อ่านออกเสียง "wicky", "weekee" หรือ "veekee" เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถสร้างและแก้ไขหน้าเว็บเพจขึ้นมาใหม่ผ่านทางบราวเซอร์ โดยไม่ต้องสร้างเอกสาร html เหมือนแต่ก่อน แต่ Wiki เน้นการทำระบบสารานุกรม, HOWTOs ที่รวมองค์ความรู้หลายๆ แขนงเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะ มีเครื่องมือที่ใช้ทำ Wiki หลายอย่าง เช่น Wikipedia , MoinMoin , WackoWiki เป็นต้น
Wikipedia เป็นระบบสารานุกรม (Encyclopedia) สาธารณะ ที่ทุกคนสามารถใส่ข้อมูลลงไปได้ รองรับภาษามากกว่า 70 ภาษารวมทั้งภาษาไทย สำหรับภาษาไทยสามารถเข้าอ่านได้ที่ http://th.wikipedia.org รายละเอียดเกี่ยวกับ Wiki สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://en.wikipedia.org/, http://th.wikipedia.org/ และ http://www.wiki.org/
รูปที่ 5 หน้าจอหลักของ wikipedia
4. Instant Messaging
เป็นการอนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลบนเครือข่ายที่เป็นแบบ Relative privacy (เป็นส่วนตัว) ตัวอย่าง Client ที่เป็นที่นิยม เช่น Gtalk, Skype, Meetro, ICQ, Yahoo Messenger, MSN Messenger และ AOL Instant Messenger เป็นต้น ในการใช้งานดังกล่าวจะสามารถเพิ่มรายชื่อให้อยู่ในcontact list หรือ buddy list ได้ โดยการใส่ e-mail address หรือ messenger ID ลงไป ถ้าคนๆนั้น online ขึ้นมา ชื่อของคนนั้นจะปรากฏขึ้นมาและสามารถ chat ได้โดยการคลิกไปที่ชื่อนั้น แล้วพิมพ์ข้อความที่ต้องการสนทนาลงไปใส่ช่องหน้าต่างที่กำหนดให้สำหรับพิมพ์ข้อความ รวมถึงสามารถอ่านข้อความที่โต้ตอบได้โดยสามารถใช้หน้าจอเดียวกัน เช่น โปรแกรมGoogle Talk, ICQ เป็นต้น
รูปที่ 6 โปรแกรม Google Talk
รูปที่ 7 ตัวอย่างหน้าจอโปรแกรม MSN
5. ปัจเจกวิธาน (Folksonomy)
ก่อนหน้าการกำเนิดขึ้นของปัจเจกวิธาน โดยทั่วไปแล้ว ได้มีการจัดกลุ่มการจัดระเบียบและค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ
- ค้นหาในเนื้อความ (Text Search)
- เรียงเนื้อหาตามลำดับเวลา (Chronological)
- แยกตามกลุ่มประเภท (Category, Classification)
ค้นหาในเนื้อความ (Text Search)
Google ที่ก่อตั้งโดย Sergery Brin และ Larry Page ได้ออกแบบเพื่อจัดอันดับความสำคัญของเว็บโดยคำนวณจากการนับ Link จากเว็บอื่นที่ชี้มาที่เว็บหนึ่งๆ เป็นที่น่าติดตามว่าจะมีเทคนิควิธีในการค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ อย่างไรต่อไป
เรียงเนื้อหาตามลำดับเวลา (Chronological)
เนื้อหาข้อมูลจะถูกจัดเก็บเรียงลำดับเวลาโดยแสดงตามเวลาใหม่ล่าสุดก่อน เช่น เว็บไซต์ประเภทข่าว อย่าง CNN, BBC และ Google news เนื้อหาเก่าจะตกไปอยู่ด้านล่าง Blog ก็ใช้วิธีจัดเรียงตามเวลาเช่นกัน ทั้งนี้หากต้องการอ่านเนื้อหาเก่าก็สามารถคลิกดูที่ปฏิทินได้
แยกตามกลุ่มประเภท (Category, Classification)
การจัดระเบียบแบบนี้จะยึดเอาหัวข้อเป็นหลัก แล้วแยกประเภทออกไป เช่น แบ่งหนังสือเป็นประเภทธุรกิจ, หนังสือเด็ก, นวนิยาย, คอมพิวเตอร์, ศาสนา, วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ลักษณะอื่นๆ ที่นำมาใช้ร่วมในการแบ่งประเภทนี้ อาจจะเป็น ช่วงราคาสินค้า, ยี่ห้อสินค้า, ผู้สร้าง, สถานที่ จะช่วยทำให้ค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น การใช้ลักษณะหลาย ๆ ด้านมาทำการแยกแยะข้อมูลเรียกว่า Faceted Classification
ข้อมูลที่มีมากมายบนอินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดปัญหาในการจัดระเบียบและค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่ง ปัจเจกวิธาน เป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดการข่าวสารความรู้ สำหรับปัจเจกบุคคลอันนำมาซึ่งประโยชน์อันกว้างขวางในการศึกษาความสนใจและพฤติกรรมของกลุ่มชนหรือสังคมโดยรวมได้
ปัญหาที่พบเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ได้แก่
- เนื้อหามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรายวัน
- การค้นหาข้อมูลที่ตรงตามความต้องการมากที่สุดทำได้ยาก เนื่องจากเนื้อหาที่มีจำนวนมาก
- การค้นหาข้อมูลเฉพาะด้านที่ขึ้นกับความสนใจของผู้ทำการค้นไม่ตรงจุด
- ข้อมูลที่พบอาจจะขาดความน่าเชื่อถือ
การที่ทุกๆ คนสามารถสร้างเนื้อหาเผยแพร่บนเว็บได้ง่าย โดยผ่านทาง Blog และ Forum ทำให้การจัดเก็บข้อมูลต้องมีการพิจารณาให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถทำงานกับข้อมูลจำนวนมากบนอาณาเขตอินเตอร์เน็ตที่กว้างใหญ่ได้ ปัญหา คือ ไม่สามารถหาวิธีจัดกลุ่มเนื้อหาที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของคนทั้งโลกได้ อาจจะทำได้เพียงไม่ถึง 1 % ของเว็บทั้งหมด
จุดเริ่มต้นของปัจเจกวิธาน
Joshua Schachter เริ่มรวบรวมเก็บเว็บต่าง ๆ เป็น Bookmark ของตนเองคนเดียวไว้จำนวนมากและใช้ Keyword เพื่อจัดกลุ่มแทน เช่น “search engine tools” และ “password security tools” เมื่อต้องการเรียกเว็บที่มีคำว่า tools ก็จะสามารถดึงรายชื่อเว็บทั้งหมดออกมาได้ทันที ปัจเจกวิธาน เรียก keyword นี้ว่า tag เป็นคำสัก 2-7 คำที่เกี่ยวกับเว็บใหม่ที่สามารถจัดเป็นกลุ่มเว็บได้
รูปที่ 8 ตัวอย่าง Tag ที่เกี่ยวกับ Google maps
วิธีการใช้ Tag นี้มีความสะดวกตรงที่ไม่ต้องจำลำดับชั้นการจัดระเบียบเช่นเดิม การค้นเจอเว็บก็ได้จาก Tag หลาย ๆ ตัวได้ ไม่จำกัดอยู่แต่ข้อมูลใน Folder เดียวกัน Joshua meให้ทุก ๆ คนสามารถตรวจดูเว็บที่มีการตั้งชื่อ Tag โดยผู้อื่นได้ ดังรูป
รูปที่ 9 รูปที่รวม Tag คำว่า Tools
คำว่า Folksonomy นี้ มีที่มาจากการที่ ใครก็ได้ทุกๆ คน (Folk) มีสิทธิในการจัดทำอนุกรมวิธาน (Taxonomy) หรือ จัดกลุ่มประเภทหมวดหมู่ของเอกสารในโลกอินเทอร์เน็ตให้อยู่ในแบบที่ตนเข้าใจ ต่างจากการทำ Taxonomy เช่น การจัดประเภทสัตว์หรือพืช ที่อาศัย ผู้รู้ เป็นผู้ดำเนินการและให้ผู้อื่นจัดว่าอะไรควรจะอยู่ประเภทไหนตามที่ผู้รู้นั้นได้กำหนดไว้แล้ว
คุณลักษณะพิเศษที่ได้จากปัจเจกวิธาน
- กระแสการติดตามเว็บใหม่ๆ ตามชื่อ Tag (Stream and Feed)
- การเห็นกลุ่ม Tag ก่อตัวกันตามหัวเรื่องที่สนใจ (Tag Cloud)
- การให้คะแนนความนิยม (Rating and Popularity)
- การท่องอินเทอร์เน็ตอย่างที่มีเนื้อหาข้อมูลข้ามสายกัน (Cross-Navigation)
กระแสการติดตามเว็บใหม่ๆ ตามชื่อ Tag (Stream and Feed)
จากตัวอย่างมีหน้าเฉพาะสำหรับ Tag คำว่า Tools ซึ่งก็อาจจะมีหน้าเฉพาะอื่นๆ ให้ เข้าไปติดตาม Tag เฉพาะใดๆ ได้ เช่น ถ้าสนใจเรื่องภาษาไทย เราอาจจะตามอ่านได้จากหน้า “tag/thai” หรือ “tag/thai+language” นอกจากนี้ยังมีการสร้าง RSS feed สำหรับหน้าดังกล่าว เพื่อใช้เตือนทาง RSS reader ว่ามีเนื้อหาใหม่ๆ ตาม Tag ดังกล่าว เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นมา ดังรูป
รูปที่ 10 ตัวอย่าง RSS feed
การเห็นกลุ่ม Tag ก่อตัวกันมองคล้ายกลุ่มเมฆ ตามหัวเรื่องที่สนใจ (Tag Cloud)
เมื่อมีการใส่ Tag เป็นจำนวนมากแล้ว ระบบของ ปัจเจกวิธาน สามารถแสดงภาพรวมออกมาได้ว่าทุก ๆ คนใช้ Tag ใดมากน้อยเพียงใดดังรูป Tag ใดที่มีคนใช้มาก ก็จะตัวใหญ่ Tag ใดใช้น้อยก็จะตัวเล็ก การแสดงภาพรวมนี้ สามารถทำได้ทั้งของทุกๆ คนรวมกัน หรือ เฉพาะบุคคลไป (ซึ่งจะชี้ให้เห็นได้ว่าบุคคลนั้นสนใจเรื่องใดบ้าง)
รูปที่ 11 แสดงภาพรวมของผู้ใช้ ในการใช้ Tag
การให้คะแนนความนิยม (Rating and Popularity)
การที่เว็บมีข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการตัดสินใจเลือกว่าข้อมูลใดน่าสนใจที่สุด ระบบของ ปัจเจกวิธาน ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยการแสดงจำนวนผู้ใช้ที่ได้ใส่ Tag ให้กับเว็บนั้นๆ ถ้ามีจำนวนผู้ใช้ที่ใส่ Tag มากก็แสดงว่าเว็บนั้นเป็นที่นิยม ดังรูป
รูปที่ 12 ตัวอย่างการค้นหาเว็บที่เกี่ยวกับ Wallpaper ใน del.icio.us
การท่องอินเทอร์เน็ตอย่างที่มีเนื้อหาข้อมูลข้ามสายกัน (Cross-Navigation)
การใช้แกนในการค้นหาถึงสามอย่างได้ช่วยให้พบข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แกนดังกล่าวได้แก่
User: เว็บทั้งหมดที่ผู้ใช้ผู้นี้ใส่ Tag ให้และเรียกดู Tag cloud ของผู้ใช้ผู้นี้ได้ด้วย
Tag เว็บทั้งหมดที่มีการใส่ Tag และเรียกดู Tag ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
URL เว็บนี้มีใครใส่ Tag บ้าง และใส่ว่าอะไรบ้าง
การค้น อาจจะเริ่มจากที่ User แล้วไปที่แกน Tag และทำให้พบ Tag ที่เกี่ยวข้องได้อีก โดยไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนแต่แรก การใช้ Tag สามารถพบได้ในการนำไปใช้กับเนื้อหาอื่นๆ นอกจาก URL เช่น
Flickr.com เก็บ และ ใส่ Tag ให้กับรูปภาพ
CiteULike.org เก็บและใส่ Tag ให้เอกสารงานวิจัย (academic paper)
43Things.com บันทึกสิ่งที่อยากทำในชีวิตพร้อมกับใส่ Tag ให้กิจกรรมนั้น
Tagzania.com บันทึกสถานที่ และใส่ Tag ให้กับสถานที่หรือแผนที่
รูปที่ 13 ตัวอย่าง Tag/cat รวมภาพที่เกี่ยวกับแมวบน Flickr.com
อนาคตของ ปัจเจกวิธาน
ระบบการใช้ Tag จะมีการนำไปประยุกต์ใช้กับ Blog และ Wiki เพื่อความสะดวกให้การค้นหาความรู้ต่างๆ ที่บรรจุไว้ในซอฟต์แวร์ทั้งสอง ในระยะยาวอาจจะมีการแข่งขันของโปรแกรมลักษณะนี้อีกก็เป็นไปได้ โดยที่อาจจะมีคุณลักษณะเพิ่มเติมที่ง่ายต่อการใช้งานและมีความสามารถใหม่ๆ
6. Knowledge Unifying Initiator (KUI)
Knowledge Unifying Initiator หรือเรียกย่อ ๆ ว่า KUI หรือ “คุย” ในภาษาไทยหมายถึงการสนทนา โดยคำว่า Knowledge Unifying Initiator หมายถึง กลุ่มผู้รวบรวมความรู้ โดย KUI จัดว่าเป็นซอฟต์แวร์ทางสังคม (Social Software) และการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เนื่องจากภายในโปรแกรม KUI ประกอบด้วยโครงสร้างซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ดังนี้
6.1 Localization เป็นการเสนอคำแปลความหมายของประโยค วลี หรือคำศัพท์
6.2 Opinion Poll เป็นการเสนอความคิดเห็นจากการสำรวจความคิดเห็น
6.3 Public Hearing เป็นข้อเสนอแนะ การตีความ ประชาพิจารณ์ ร่างกฎหมาย
นอกจากนี้แล้วในแต่ละหมวดหลักก็จะมีรายละเอียดในแต่ละส่วนการทำงานแตกต่างกันไปอีก โดย KUI ซึ่งคาดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการสร้างความรู้ใหม่ๆ คือมีการเสนอประเด็นความเห็นร่วมกัน ซึ่งโต้แย้งถกเถียงได้คล้ายเว็บบอร์ด แต่มีสิ่งที่แตกต่างจากเว็บบอร์ด คือ ถ้าประเด็นความเห็นใดสมาชิกให้คะแนน (Vote) น้อย หรือคนไม่สนใจ ประเด็นนั้นก็จะถูกลบ โดยเกณฑ์การให้คะแนน (Vote) นั้น ต้องมีสมาชิกให้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกที่ได้ทำการลงทะเบียน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเพื่อให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้ความรู้ในเรื่องที่คนในกลุ่มให้ความสนใจ โดยไม่เป็นเรื่องไร้สาระ นอกจากนี้แล้วยังมีการ Chat ไปยังผู้ที่ล็อกอินอยู่ในขณะนั้นได้อีกด้วย ซึ่งแต่ละหัวข้อที่มีการออกความเห็นยังสามารถดูรายละเอียดของการสนทนาในหัวข้อนั้นได้ด้วย สำหรับการใช้งานนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับบุคคลทั่วไป และสำหรับสมาชิก โดยข้อแตกต่างระหว่างสมาชิกกับบุคคลทั่วไปคือ บุคคลทั่วไป นั้นสามารถใช้งานได้โดยดูการแสดงผลดังนี้
1. ดูการแสดงผลในส่วนของผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกในการมีส่วนร่วมในแต่ละหัวข้อสูงสุด 5 อันดับ
2. ดูการแสดงผลของแต่ละหัวข้อที่สมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็น โดยจะมีหัวข้อที่น่าสนใจเป็นส่วนที่แสดงผลหน้าแรก ในแบบสำรวจความคิดเห็นสามารถดูข้อสรุป ที่สมาชิกร่วมกันอภิปรายและร่วมแสดงความคิดเห็น ยังสามารถแสดงผลข้อความการพูดคุยของสมาชิกที่ร่วมกันอภิปรายในแบบสำรวจความคิดเห็น และใน Dictionary จะแสดงผลข้อมูลคำศัพท์ ข้ออภิปรายและข้อคิดเห็น ในแต่ละหัวข้อที่สมาชิกได้แปลความหมาย และสามารถค้นหาตามที่กำหนดได้
3. Documentations เป็นการอธิบายการทำงานในแต่ละโมดูล ทั้งบุคคลทั่วไปและของสมาชิกส่วนสมาชิกสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและอภิปรายได้ แต่ถ้าหัวข้อใดที่สมาชิกเป็นคนเพิ่มเข้าไปเอง สมาชิกก็จะสามารถแก้ไขชื่อหัวข้อได้ด้วย สามารถร่วมเสนอหัวข้อ แสดงความคิดเห็น ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับแบบสำรวจความคิดเห็น และสามารถบอกได้ว่าเรากำลังสนใจหัวข้อใด แสดงความคิดเห็นในหัวข้อที่คิดว่าน่าจะถูกต้อง โดยการโหวต และถ้าต้องการที่จะเสนอข้อคิดเห็นเพื่อให้เพื่อนสมาชิกเข้ามาร่วมอภิปรายเพิ่มเติม ฯลฯ
นอกจาก KUI จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยรวบรวมความรู้ต่าง ๆ แล้ว โปรแกรม KUI ยังมี User Interface ที่ง่ายต่อการใช้งาน โดยในองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำโปรแกรม KUI ไปใช้ได้
รูปที่ 14 ตัวอย่างหน้าจอ KUI
การใช้ประโยชน์จาก Social Software
1. ใช้ประโยชน์ในการประมวลทางสังคม (Social Computing)
ในยุคที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นทุนในการพัฒนาสังคม ในยุคนี้มีความจำเป็นจะต้องสร้างระบบที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในสังคมให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมใหม่ให้กับภาคประชาสังคม เพื่อให้ประชาคมในทุกภาคส่วนได้มีโอกาสที่จะเข้าถึงและทำงานเพื่อสังคมของตนด้วยตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นในการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อสังคมจึงเน้นให้คงความเป็นปัจเจก (Individual) ของบุคคลไว้ การให้โอกาสปัจเจกบุคคลสามารถแสดงออกสู่สาธารณะโดยมีกระบวนการที่สนับสนุนให้มีการตอบสนองจากสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นความปรารถนาสูงสุดของการประมวลทางสังคม
บล็อก(Blog) หรือที่บางคนเรียกว่ากล่องข้อความ เป็นซอฟต์แวร์เพื่อสังคมที่สามารถใช้เพื่อการเสนอ (Post) ข้อความต่อผู้อื่นในสังคม โดยสามารถอนุญาตให้ผู้อ่านบล็อกมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น (Comment) ต่อข้อความที่เสนอได้ โดยปกติแล้วผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปจะสามารถใช้บล็อกได้ โดยไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคมากนัก เมื่อบุคคลมีบล็อกของตนเองแล้ว เขาย่อมมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เขาคิดเห็นว่าเขาควรจะมีส่วนร่วมได้ด้วยตนเอง และเขาย่อมที่จะมีสิทธิที่จะขอรับข้อคิดเห็นจากผู้อ่านบล็อกของเขาได้ บล็อกจะเรียงลำดับตามเหตุการณ์จากปัจจุบันไปอดีต จึงเป็นโอกาสที่ผู้ใช้จะใช้บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้บันทึกได้ในทุกๆ เรื่อง ตามประสงค์ของผู้บันทึก ดังนั้นบล็อกจึงสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในกระบวนการการจัดการความรู้ การสร้างลักษณะนิสัยให้ประชาคมในสังคมรักการบันทึกข้อมูลเก็บไว้ในบล็อกจะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคตของสังคมนั้น
ปัจเจกวิธาน(Folksonomy) เป็นซอฟต์แวร์เพื่อสังคมที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดหมวดหมู่ แห่งสรรพสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ โดยผู้จัดหมวดหมู่เป็นผู้กำหนดเอง เป็นการให้โอกาสผู้ใช้เป็นผู้เลือกจัดและสามารถเรียกใช้คืนได้ตามที่ได้จัดไว้ ยังไม่มีปัจเจกวิธานตัวใดที่สามารถใช้จัดหมวดหมู่ได้ทุกสิ่ง แต่มีซอฟต์แวร์ปัจเจกวิธานเฉพาะเรื่องให้เลือกใช้จำนวนหนึ่ง เช่น การจัดหมวดหมู่ของรูปภาพ สามารถใช้บริการที่ http://www.flickr.com/ การกำหนดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ สามารถใช้บริการที่ http://www.tagzania.com/ หรือการจัดหมวดหมู่ลิงค์เชื่องโยงในอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจ ได้แก่ http://del.icio.us โดยปัจเจกวิธานในเรื่องสาขาใด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดหมวดหมู่ในสาขานั้นๆ อย่างไรก็ตามหลักการที่ถูกใช้ในการจัดนั้นๆ เป็นอิสระจากทุกสิ่ง เป็นสิทธิ์ของผู้จัดหมวดหมู่โดยแท้ ประโยชน์อย่างมากของปัจเจกวิธานก็คือ การเปิดโอกาสผู้ใช้ได้มีโอกาสในการจัดหมวดหมู่สารสนเทศที่สามารถใช้เป็นแหล่งความรู้ได้ด้วยตนเองได้ โดยปราศจากการบังคับจากผู้อื่นหรือจากระบบแต่อย่างใด
เจตจำนงสำคัญของการใช้ Social Software อันหนึ่งก็คือ การเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลได้มีโอกาสในการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อประมวลสังคมของพวกเขาได้ด้วยตนเอง การใช้ประโยชน์จาก Social Software ก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะมีอิสระเสรีในการเลือกประโยชน์ที่ต้องการด้วยตัวเอง ดังนั้นคำตอบในเรื่องประโยชน์จาก Social Software จึงเป็นคำตอบที่ผู้ใช้ต้องตั้งคำถามให้ไว้กับตนเองตอบนั่นเอง
2. ใช้ Social Software ในการจัดการความรู้
การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นเรื่องที่รู้จักกันมานานแล้ว เทคนิคที่ใช้ในการจัดการความรู้นั้นก็มีหลายวิธี เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการความรู้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่กระบวนการในการจัดการความรู้นั้นก็ยังคงเดิม โดยหัวใจของกระบวนการจัดการความรู้ก็ยังคงความสำคัญอยู่ที่การแบ่งปันความรู้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามในยุคแห่งความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี้ ได้มีความพยายามในการนำเอาซอฟต์แวร์เพื่อสังคมมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการจัดการความรู้มากขึ้น นับตั้งแต่ การค้นหาความรู้ การจัดเก็บความรู้ด้วยวิธีการสร้างฐานความรู้ (Knowledge Base) และในกระบวนการแบ่งปันความรู้ก็มีการส่งเสริมการนำซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานร่วมกันดังเช่นกรุ๊ฟแวร์ (Groupware) มาใช้ประโยชน์
โปรแกรม “คุย” หรือ “KUI” (ย่อมาจาก Knowledge Unifying Initiator) ก็เป็น Social Software ตัวหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในสังคม ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นการเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคลสามารถเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยแต่ละคนมีอิสรเสรีในการนำเสนอความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ โปรแกรม “คุย” ใช้หลักการของการเคารพความเห็นของส่วนรวม ปฏิบัติตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่ยังรับฟังความคิดเห็นที่ดีของคนส่วนน้อย โปรแกรมคุยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน และใช้ประโยชน์เพื่อจรรโลงสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมคุยสามารถถูกนำไปใช้ใน โครงการเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในภารกิจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ในภารกิจของคณะกรรมการตรวจสอบ และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่คณะกรรมการตรวจสอบสามารถใช้เพื่อแจ้งข่าวสารข้อเท็จจริงและสารสนเทศอื่นๆ ที่สามารถส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอันดี ต่อกิจกรรมการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ได้เป็นต้น นอกจากนั้นโปรแกรม “คุย” ยังสามารถนำไปใช้ในโครงการที่ต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนดัง เช่น โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตโปรแกรม “คุย” ยังสามารถถูกพัฒนาต่อยอดให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ ตามสถานการณ์ได้อีก
Social Software ที่ใช้ประโยชน์เพื่อการจัดการความรู้ ยังมีอีกมาก แต่ที่เป็นที่น่าสนใจได้แก่ วิกิ (WiKi) มีการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์วิกิที่สำคัญยิ่งในการสร้างสารานุกรม ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาร่วมกันสร้างสารานุกรม ดังเช่น http://www.wikipedia.org หรือวิกิพีเดียในภาคภาษาไทยโดยตรงที่ http://th.wikipedia.org เป็นต้น ในปัจจุบันวิกิพีเดียถือว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม Social Software ที่ดีควรที่จะคงคุณลักษณะของการเปิดพื้นที่ให้กับปัจเจกบุคคลในการสื่อต่อสาธารณะโดยมีการควบคุมน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้การประมวลสังคม เป็นไปอย่างอิสระปราศจากการครอบงำจากเจ้าของเทคโนโลยีให้มากที่สุด ดังนั้นการสร้างหรือพัฒนา Social Software ใดๆ ควรที่จะคำนึงถึงหลักการเคารพในสิทธิของปัจเจก (Individual) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน
แหล่งที่มาข้อมูล
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Social_software
2. http://socialsoftware.org/Home
3. http://blog.sanook.com
4. http://socialsoftware.weblogsinc.com/
5. Folksonomy และ การจัดระเบียบความรู้บนโลกอินเทอร์เน็ต กรกฎ เชาวะวนิช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น